หมายเหตุ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีมติเมื่อวัน ที่ 30 เมษายน 2552 ในคดีที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบธุรกรรมการเงินของบุคคลและนิติบุคคลต่าง ๆ โดยมิชอบ ว่า
การกระทำของ พล.ต.ต. พีรพันธุ์ เปรมภูติ ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ ขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศและติดตามประเมินผล สำนักงาน ปปง. มีมูลเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง
ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 85 วรรคสอง และการกระทำของ พล.ต.ต. พีรพันธุ์ ยังมีมูลเป็นความผิดทางอาญา ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ด้วย
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
เรื่องกล่าวหา พล.ต.ต. พีรพันธุ์ เปรมภูติ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ปปง.(ปัจจุบันประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเทียบเท่าระดับ 11) กับพวก ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเกี่ยวกับการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน
ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง (มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธานอนุกรรมการ) กรณีกล่าวหา พล.ต.ต. พีรพันธ์ กับพวกว่า ดำเนินการตรวจสอบธุรกรรมการเงินของบุคคลและนิติบุคคลต่าง ๆ (ประกอบด้วยสื่อมวลชน เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนและนักการเมือง) โดยมิชอบนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า
เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2545 พล.ต.ต. พีรพันธุ์ เปรมภูติ ได้สั่งการให้ พันตำรวจเอก สีหนาท ประยูรรัตน์ (ปัจจุบันรักษาการเลขาธิการ ปปง. เข้าดำเนินการตรวจสอบการทำธุรกรรมการเงินของบุคคลและนิติบุคคลต่าง ๆ เนื่องจากได้รับหนังสือร้องเรียน (บัตรสนเท่ห์) กล่าวหาว่า บุคคลและนิติบุคคลต่าง ๆ ดังกล่าว อาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน
ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้น ไม่ปรากฏรายงานธุรกรรมของบุคคลและนิติบุคคลดังกล่าว ในฐานข้อมูลรวบรวมรายงานการทำธุรกรรม (AERS) ของสำนักงาน ปปง. แต่อย่างใด แต่ พ.ต.อ.สีหนาท ได้ทำการวิเคราะห์สถานะการเงินและผลประกอบการของบริษัทนิติบุคคล ที่มีรายชื่อถูกกล่าวหา ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจสื่อสารมวลชน รวมทั้งการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรของบุคคลที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับนิติบุคคลเหล่านี้
แล้วเสนอความเห็นให้ พล.ต.ต. พีรพันธุ์ ทราบว่า ผลประกอบการของนิติบุคคลดังกล่าว น่าสงสัยว่า อาจเข้าข่ายความผิดมูลฐาน ในเรื่องฉ้อโกงประชาชน นิติบุคคลบางรายน่าสงสัยว่า นำเงินทุนจากที่ใดมาขยายกิจการ นิติบุคคลบางรายขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาตลอด 3 ปี แต่ยังคงดำเนินกิจการอยู่ บุคคลที่เกี่ยวข้องมีการเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง
เห็นควรตรวจสอบกระแสเงินในบัญชีธนาคารไทย ทั้ง 17 แห่งของบริษัทและกลุ่มบุคคลดังกล่าว รวมทั้งบุคคลในครอบครัวเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาต่อไป ซึ่ง พล.ต.ต. พีรพันธุ์ เห็นชอบกับข้อเสนอดังกล่าวและสั่งการให้พ.ต.อ.สีหนาท ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงิน ของกลุ่มบุคคลดังกล่าว
หลังจากนั้นพ.ต.อ. สีหนาท มีหนังสือสำนักงาน ปปง.ถึงสถาบันการเงินต่าง ๆ ขอให้ตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมของบุคคลและนิติบุคคลต่าง ๆ ตามหนังสือร้องเรียน (บัตรสนเท่ห์) เป็นเหตุให้บุคคลผู้ถูกตรวจสอบ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนหนังสือสำนักงาน ปปง. ที่ขอให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงินดังกล่าว
ก่อนที่ศาลปกครองกลาง จะมีคำวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งในเรื่องนี้ ปรากฏว่า พล.ต.ต. พีรพันธุ์ และพ.ต.อ. สีหนาท และสำนักงาน ปปง. มีหนังสือถึงสถาบันการเงิน แจ้งยกเลิกหนังสือขอตรวจสอบข้อมูลทางธุรกรรม เป็นผลให้ในเวลาต่อมาศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ โดยปรากฏตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางในตอนหนึ่งว่า
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏแก่ พล.ต.ต. พีรพันธุ์ และพ.ต.อ. สีหนาท ประยูรรัตน์ มีเพียงหนังสือร้องเรียน (บัตรสนเท่ห์) กล่าวหาบุคคลและนิติบุคคล รวมทั้งผู้ฟ้องคดีซึ่งถูกตรวจสอบว่า เกี่ยวข้องหรืออาจเกี่ยวข้องกับการกระทำอันเป็นความผิดมูลฐาน ยังไม่ปรากฏว่า มีการกระทำความผิดมูลฐานหรือการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเกิดขึ้น และไม่ได้มีข้อเท็จจริงหรือเหตุอันควรเชื่อว่า บุคคลและนิติบุคคล รวมทั้งผู้ฟ้องคดี อาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้ายปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินใด ที่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
และที่สำคัญคือ สำนักงานไม่ได้รายงานคณะกรรมการธุรกรรม หรือคณะกรรมการธุรกรรม มิได้มีการมอบหมายให้ พ.ต.อ.สีหนาท ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากเลขาธิการ ให้ดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม แม้ว่า พ.ต.อ. สีหนาท จะได้รับมอบหมายจากพล.ต.ต.พีรพันธุ์ ซึ่งเป็นเลขาธิการและเป็นประธานกรรมการของคณะกรรมการธุรกรรม ก็ตาม
แต่การมอบหมายของพล.ต.ต. พีรพันธุ์ ยังไม่เพียงพอที่จะเป็นเงื่อนไขในการใช้อำนาจตามข้อ 1 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2543) เพราะข้อ 1 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2543) ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ที่มอบหมายให้ทำการตรวจสอบเพิ่มเติม คือ คณะกรรมการธุรกรรม ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้ องคดีทั้งสี่ในประเด็นนี้ จึงฟังไม่ขึ้น
อาศัยเหตุผลต่าง ๆ ดังกล่าว ศาลเห็นว่า คำสั่งตามหนังสือเรื่องขอตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมที่ พ.ต.อ. สีหนาท ประยูรรัตน์ มีไปถึงสถาบันการเงิน และสั่งให้สถาบันการเงิน ส่งให้กับสำนักงาน ปปง. เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเหตุที่เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่ง ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะออกคำสั่งดังกล่าวได้ แต่โดยที่มีการแจ้งยกเลิกหนังสือขอตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรม อันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้แล้ว ถือว่าเหตุแห่งการฟ้ องคดีดังกล่าว ได้สิ้นสุดลง จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ พล.ต.ต. พีรพันธุ์ สั่งการให้พ.ต.อ.สีหนาท ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงิน ของบุคคลและนิติบุคคลต่าง ๆ โดยมีหนังสือสำนักงาน ปปง. ถึงสถาบันการเงิน ขอให้ตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมของบุคคลดังกล่าว ทั้งที่ ปราศจากข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุอันสมควรในการตรวจสอบ
จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิของบุคคลที่ได้รับความคุ้มครอง ทั้งในด้านข้อมูลส่วนบุคคล หน้าที่การงาน เกียรติยศ ชื่อเสียงและความเป็นส่วนตัว อันเป็นการละเมิดต่อบุคคลดังกล่าว
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติว่า การกระทำของพล.ต.ต. พีรพันธุ์ และพ.ต.อ. สีหนาท มีมูลเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 85 วรรคสอง
และการกระทำของ พลตำรวจตรี พีรพันธุ์ เปรมภูติ ยังมีมูลเป็นความผิดทางอาญา ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
ให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยกับ พล.ต.ต.พีรพันธุ์ เปรมภูติและพ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ และไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาล ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับ พล.ต.ต.พีรพันธุ์ ฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 92 และมาตรา 97 แล้วแต่กรณีต่อไป
ที่มา – มติชน