วันที่ 3 มี.ค. 2552 เวลา 11.00 น. ที่ศาลปกครองระยอง นางสายสุดา เศรษฐบุตร อธิบดีศาลปกครองระยอง ตุลาการเจ้าของสำนวน ได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่192/2550 ระหว่างนายเจริญ เดชคุ้ม กับพวกรวม 27 คน ยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
ฐานละเลยไม่ประกาศให้พื้นที่ตำบลมาบตาพุด และเทศบาลเมืองมาบตาพุด ตลอดจนพื้นที่ข้างเคียงที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลดและขจัดมลพิษตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535
ศาลมีคำวินิจฉัยในประเด็นที่ 1 ว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ประกาศเขตควบคุมมลพิษ ในพื้นที่ตำบลมาบตาพุดและเทศบาลเมืองมาบตาพุด ตลอดจนพื้นที่ข้างเคียง เป็นการละเลยต่อหน้าที่หรือไม่ เมื่อพิจารณากฎหมายมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ต้องพิจารณาก่อนว่า ในพื้นที่นั้นมีปัญหามลพิษ ซึ่งมีแนวโน้มที่ร้ายแรง ถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือไม่
มาตรา 59 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535
“ในกรณีที่ปรากฏว่า ท้องที่ใดมีปัญหามลพิษซึ่งมีแนวโน้มที่จะร้ายแรง ถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้ท้องที่นั้น เป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินการ ควบคุม ลดและขจัดมลพิษได้”
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีได้ประชุมพิจารณาปัญหาสิ่งแวดล้อม บริเวณพื้นที่มาบตาพุดหลายครั้ง เกี่ยวกับการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมา โดยมีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2548 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
พิจารณาความเป็นไปได้ในการประกาศเขตควบคุมมลพิษ โดยกระทรวงทรัพย์ฯ พิจารณารายงานของกรมควบคุมมลพิษแล้วในการประชุมครั้งที่ 11/2548 ได้มีมติลงความเห็นว่า ในพื้นที่มาบตาพุดมีปัญหามลพิษ ซึ่งมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้น ถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ได้
ตามรายงานเอกสารของกรมควบคุมมลพิษ ที่แนบท้ายการประชุมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในครั้งดังกล่าว พบว่า ปัญหามลพิษทางอากาศ พบสารอินทรีย์ระเหยมากกว่า 40 ชนิด เป็นสารก่อมะเร็ง 20 ชนิด ใน 20 ชนิดพบสารอินทรีย์ระเหยก่อมะเร็ง ที่มีค่าเกินระดับการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในบรรยากาศจำนวน 19 ชนิด
โดยการประเมินศักยภาพ การรองรับมลพิษทางอากาศในพื้นที่มาบตาพุด สรุปว่า หากแหล่งกำเนิดทุกแหล่ง ในพื้นที่มาบตาพุดระบายมวลสารทางอากาศออกในอัตราสูงสุดตามค่าที่ได้รับอนุญาต จะมีผลทำให้ค่าความเข้มข้นของมวลสารในบางค่า สูงกว่ามาตรฐานของคุณภาพอากาศในบรรยากาศ
นอกจากนี้ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้นำเสนอข้อมูลจากโครงการศึกษาระบาดวิทยาของโรคมะเร็งในประเทศไทย ของจังหวัดระยอง ปี พ.ศ. 2540 – 2544 รายงานว่า สถิติการเกิดโรคมะเร็งทุกชนิด และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวของอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง สูงกว่าอำเภออื่นๆ เป็น 3 เท่า และ 5 เท่า
อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินการที่ผ่านมา ได้มีการมอบหมายให้เทศบาลเมืองมาบตาพุด กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกรมควบคุมมลพิษ ร่วมกันดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษ โดยให้กรมควบคุมมลพิษประสานการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการดังกล่าว
แม้ว่ากระทรวงทรัพย์ฯ จะได้ร่างประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ … (พ.ศ.2549) เพื่อกำหนดให้ท้องที่เขต ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยองเป็นเขตควบคุมมลพิษ แต่ก็ไม่ได้มีการประกาศ เพียงแต่มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่มาบตาพุด
กับ ปริมาณสารอินทรีย์ระเหยที่ปล่อยจากโรงงานอุสาหกรรมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม กำหนดค่าความปลอดภัย และเพื่อพิจารณาการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ
ทั้งนี้ จากข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้ให้ กนอ.จัดตั้งงบประมาณร่วมกันระดมทุนจากผู้ประกอบการในพื้นที่ แต่งบประมาณที่นำมาใช้ในโครงการนั้น เห็นได้ว่าผู้ประกอบการ เป็นผู้ออกเงิน มากกว่า กนอ. และรายได้ของ กอน.ก็มาจากผู้ประกอบการในพื้นที่
เมื่อผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ออกเงินให้โครงการ ไม่เห็นด้วยในการประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ เนื่องจากเกรงจะเสียภาพลักษณ์ว่า เป็นผู้ก่อมลพิษ ย่อมเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ ไม่มีการประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ
ในส่วนคุณภาพน้ำคลองสาธารณะปี พ.ศ. 2550 พบว่า ส่วนใหญ่มีการรับน้ำทิ้งจากชุมชน ในคลองที่รับน้ำทิ้งจากอุตสาหกรรม พบค่าปริมาณของแข็งละลายน้ำรวม มีค่าสูง แสดงว่าได้รับผลกระทบจากกิจกรรมในพื้นที่ ส่วนปี พ.ศ. 2551 น้ำคลองสาธารณะในพื้นที่มาบตาพุดอยู่ในระดับเสื่อมโทรม น้ำมีสีดำคล้ำ กลิ่นเหม็น พบการปนเปื้อนของแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด และกลุ่มฟีคลอโคลิฟอร์มค่อนข้างสูง
น้ำทิ้งจากแหล่งชุมชนพบการปนเปื้อนโลหะหนัก ได้แก่ นิกเกิล ปรอท ทองแดง โครเมียมและสารหนู สูงเกินมาตรฐาน บางแห่งระดับคุณภาพแหล่งน้ำผิวดินเสื่อมโทรมมาก (ใช้ประโยชน์ด้านการคมนาคม) บางแห่งเสื่อมโทรม (ใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรม) คุณภาพน้ำในคลองต่างๆ มีแนวโน้นที่เสื่อมโทรมลง
คุณภาพน้ำทะเลในบางครั้งพบค่าปรอท ไฮโดรคาร์บอน เหล็ก ทองแดง เกินเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง คุณภาพน้ำบาดาลและบ่อน้ำใต้ดินระดับตื้นส่วนใหญ่มีค่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน พบการปนเปื้อนโลหะหนักเกินมาตรฐาน คือมีสังกะสี แมงกานีส สารหนู และพบสารอินทรีย์ระเหยง่ายเกินมาตรฐาน
นอกจากนี้ ยังมีเอกสารทางวิชาการอีกหลายรายการ ซึ่งล้วนแต่ระบุว่าปัญหามลพิษในท้องที่มาบตาพุด กระทบกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน แม้จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจขึ้น 2 คณะ มาทำหน้าที่แก้ไขปัญหามลพิษและกำหนดทิศทางพัฒนาเมืองระยองตั้งแต่ปี 2550 แต่เห็นได้ว่าปัญหามลพิษ ก็ยังไม่มีแนวโน้มลดลง ตรงกันข้ามกับเพิ่มขึ้น
จึงสมควรที่ผู้ถูกฟ้องคดี จะประกาศให้ท้องที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลดและขจัดมลพิษได้ โดยไม่มีอำนาจใช้ดุลยพินิจ โดยอ้างเหตุผลว่า ขณะนี้โรงงานอุตสาหกรรมเกือบทั้งหมด ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหามลพิษ ตามแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษ เพราะเป็นเรื่องรีบด้วนทีต้องดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษโดยเร็วที่สุด
ประเด็น ที่ 2 คำขอของผู้ฟ้องคดี ขอให้ศาลพิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศให้พื้นที่มาบตาพุด และเทศบาลมาบตาพุด ตลอดจนพื้นที่ข้างเคียงที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมร้ายแรง ถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเป็น “เขตควบคุมมลพิษ”
พิจารณาแล้วเห็นว่า โรงงานอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่กอมลพิษสูง เช่น โรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงผลิตเหล็กและเหล็กกล้า โรงงานเคมีและปุ๋ยเคมี โรงงานไฟฟ้าถ่านหิน ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมผาแดง นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก เป็นพื้นที่ที่มีปัญหามลพิษทางน้ำ อากาศ และมีแนวโน้มก่อให้เกิดความเสียหาย
โดยนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่งตั้งยู่ในท้องที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด มีตำบลที่ตั้งอยู่ในเขตท้องที่รวม 5 ตำบล ได้แก่ ใน ต.มาบตาพุด และ ต.ห้วยโป่ง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งตำบล และอีก 3 ตำบล ที่เทศบาลเมืองมาบตาพุดครอบคลุมพื้นที่เป็นบางส่วน ได้แก่ ต.เนินพระ ต.มาบข่า และต.ทับมา
ข้อเท็จจริงจากการศึกษา วิเคราะห์และตรวจสอบของผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นเวลาหลายปีตลอดมา สรุปได้ว่า ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด ได้รับผลกระทบจากมลพิษโรงงานอุตสาหกรรมมากที่สุด ดังนั้น สมควรที่ผู้ถูกฟ้องคดี จะประกาศให้เป็นท้องที่เขตเทศบาลเมืองเป็นเขตควบคุมมลพิษ
ส่วนพื้นที่ข้างเคียงที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษด้วยนั้น นอกจากนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่งข้างต้น ในนิคมอุตสาหกรรมเอเชียตั้งอยู่ใน ต.บ้านฉาง พบว่าคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งที่สถานีหาดพยูน มีแบคทีเรียและเหล็ก มีค่าเกินมาตรฐาน ศาลจึงมีคำพิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศให้ท้องที่ ต.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง ทั้งตำบล เป็นเขตควบคุมมลพิษด้วย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ได้ประกาศกำหนดเขตควบคุมมลพิษไปแล้ว 17 พื้นที่ใน 12 จังหวัด ไม่เคยประกาศให้ส่วนหนึ่งส่วนใดเพียงบางส่วนของอำเภอ หรือตำบล เป็นเขตควบคุมมลพิษ จึงสมควรให้ส่วนที่เหลือของตำบลที่อยู่ในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด เป็นเขตควบคุมมลพิษด้วย โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
ชาวบ้านน้ำตาซึม ปลาบปลื้มใจ หลังศาลมีคำตัดสิน
ภายหลังการพิพากษา ประชาชนร่วมร้อยคนที่มาร่วมฟังการพิพากษาคดี ต่างแสดงความดีใจ หลายคนถึงกับน้ำตาคลอ ด้วยความยินดีและมีการแจกดอกไม้ มอบคำขอบคุณให้กับเจ้าหน้าที่ศาลปกครองระยอง
นายยรรยง สวัสดิ์ถาวร อายุ 77 ปี ชาวบ้าน ต.มาบตาพุด หนึ่งในผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะมีการพิจารณาคดี คิดว่าจะสู้เขาไม่ได้ แต่ศาลพิจารณาคดีในรูปแบบนี้ ดีใจมากที่ศาลให้ความคุมครอง และมันจะทำให้บรรยากาศดีๆ นี้ดีขึ้นอีก ถ้าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ยอมทำตามที่ศาลตัดสิน
“ส่วนตัวผมเองมันไม่เท่าไหร่ แต่เราอยากปกป้องบ้านไว้ให้ลูกหลานตัวเล็ก ๆ ของเรา ปกป้องคนรุ่นหลัง และจะสู้จนสุดความสามารถ” นายยรรยงกล่าว
ส่วนนางอารมณ์ สดมณี ชาวบ้าน ต.มาบข่า กล่าวบอกเล่าความรู้สึกว่า ดีใจกับคำพิพากษาของศาล และมันทำให้รู้ว่า สิงที่ทำอยู่นั้นถูกต้อง แต่ความคาดหวังจริงๆ คือต้องการหยุดอุตสาหกรรมใหม่ ไม่ให้มีการขยายโรงงานเพิ่มเติมในพื้นที่ และให้มีการปรับปรุงโรงงานที่มีอยู่ให้ดีขึ้น
การที่โรงงานอุตสาหกรรม โฆษณาว่า โรงงานอยู่กับชุมชนได้ เป็นสิ่งหลอกลวง เพราะที่ผ่านมา เมื่อมีปัญหาความเดือดร้อน ได้ทำหนังสือยื่นไปให้ แต่ก็ไม่เคยนำมาทำเป็นข้อปฏิบัติ แต่กลับปัดความรับผิดชอบกันไปมา
ด้านนายเจริญ เดชคุ้ม ผู้ฟ้องคดี กล่าวในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนหลังศาลพิพากษาที่โรงแรมโกลเด้นซิตี้ อ.เมืองระยองว่า ปัญหาของมาบตาพุดนั้น มีการต่อสู้คัดค้านกันมานานนับ 10 ปี แต่ปัจจุบันไม่ได้คัดค้าน แต่จะมาบอกว่าชาวบ้านประสบปัญหามาโดยตลอด และเป็นปัญหาที่สืบเนื่องมา เพราะรัฐไม่เคยรู้ซึ่งถึงความรู้สึกของประชาชน ไม่เห็นความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์ที่มีต่ออนาคต ปัจจุบันจึงมีการทำลายทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์
นายรัชยุทธ วงศ์ภุชชงค์ ประธานชุมชนซอยร่วมพัฒนามาตาพุด เปิดเผยความรู้สึกในเวทีเดียวกันว่า รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่ง หลังมีการต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมมานาน และได้ฝากถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กรณีศาลปกครองระยองมีคำพิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง เป็นเขตควบคุมมลพิษ
ให้ช่วยแจ้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยว่า อย่าอุทธรณ์คดีนี้เลย เพราะการอุทธรณ์ทำให้คดียืดเยื้อ ต้องใช้เวลานานหลายปี โรงงานอุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นอีก และยังจะมีการประกาศพื้นที่สีม่วงเพิ่มขึ้นอีก พร้อมขอให้ยึดหลักธรรมาภิบาลในการอยู่ร่วมกัน เพื่อพี่น้องประชาชนชาวระยอง
ด้านนายสุรชัย ตรงงาม ผู้ประสานงานโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ทนายความในคดี กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีสำคัญ และเป็นคดีตัวอย่างที่ประชาชนมาบตาพุดได้รับผลกระทบ จึงลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ ให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะปัจจุบันนี้ มาบตาพุดมีความรุนแรงเรื่องมลพิษ และขอขอบคุณนักวิชาการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ที่นำข้อมูลมาร่วมยืนยันว่า มาบตาพุดมีปัญหารุนแรงเรื่องมลพิษ
ส่วนผลคดี ผู้ถูกฟ้องสามารถที่จะยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน การ ประกาศเขตพื้นที่ควบคุมมลพิษเป็นแค่เงื่อนไขหนึ่ง ในการบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาองค์กรที่เกี่ยวข้องต่างๆ ต้องร่วมผลักดันกันต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : นัดแรกคดี “ชาวมาบตาพุด” ฟ้อง “คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ” ตุลาการแถลงให้ประกาศเป็น “เขตควบคุมมลพิษ"
ภาพ จากโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (http://www.enlawthai.org/node/18503)
ที่มา – ประชาไท