คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1193/2566
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243, 253 ซึ่งการกระทำความผิดตามข้ออ้างในคำฟ้องข้อ 1.1 ของโจทก์เป็นการกระทำในขณะ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ใช้บังคับ โดยความหมายในมาตรา 2 คำว่า “อากร” ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 หมายถึงค่าอากรในทางศุลกากรเท่านั้น หาหมายรวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นภาษีอากรฝ่ายสรรพากร ภาษีสรรพสามิต และภาษีมหาดไทยด้วยไม่ อย่างไรก็ตาม แม้คำฟ้องของโจทก์ข้อ 1.1 ไม่มีจำนวนอากรขาเข้าที่จำเลยทั้งสามต้องเสียเพิ่ม แต่เมื่อคำฟ้องข้อ 1.1 บรรยายด้วยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัดใด ๆ เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้ารถยนต์ใช้แล้วครบชุดสมบูรณ์โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษี ซึ่งจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ และ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ยังบัญญัติให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดอยู่ จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ด้วย ภายหลังจำเลยทั้งสามกระทำความผิดได้มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ใช้บังคับ ซึ่งอัตราโทษใหม่ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยทั้งสามในส่วนที่เป็นคุณตาม ป.อ. มาตรา 3
คำถาม
การกระทำความผิดเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้า ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ก่อนวันที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 ที่แก้ไขภายหลังมีผลใช้บังคับ จะมีบทลงโทษอย่างไร
คำตอบ
ความผิดเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้า ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 นั้น แม้เป็นการกระทำขณะ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ใช้บังคับก็ตาม แต่เมื่อ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 ที่แก้ไขใหม่ภายหลัง ยังบัญญัติให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดอยู่และเป็นคุณมากกว่า กรณีจึงต้องใช้อัตราโทษตามที่แก้ไขใหม่ภายหลังบังคับในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ดังนั้น ในความผิดดังกล่าว จึงต้องใช้อัตราโทษจําคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคําพิพากษาหรือไม่ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244